ต่างชาติเชื่อมั่นลงทุน Data Center ในไทยต่อเนื่อง BOI ไฟเขียว 2 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท
วันที่โพสต์: 14 พฤศจิกายน 2567 10:51:48 การดู 30 ครั้ง ผู้โพสต์ baikhao
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติในการลงทุนด้าน Data Center และ Cloud Service อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าในปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service จำนวน 47 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 173,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้มีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย
ล่าสุด BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center จำนวน 2 โครงการใหญ่ที่มีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ Google มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท และบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือ GDS มูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการของบริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Alphabet Inc. (บริษัทแม่ของ Google) นั้น จะสร้าง Data Center แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยจะเป็นศูนย์ Data Center แห่งที่ 5 ในเอเชีย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และมีแผนเปิดให้บริการในต้นปี 2570 โดยการลงทุนในครั้งนี้สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่ Google ได้ประกาศในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยระบุว่าจะลงทุนใน Data Center และ Cloud Region แห่งใหม่มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนโครงการของบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน จะดำเนินโครงการ Data Center ที่จังหวัดชลบุรี โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2569
นางสาวศศิกานต์กล่าวว่า การลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบาย "Cloud First Policy" ของรัฐบาล ซึ่งสนับสนุนให้ทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาใช้เทคโนโลยี Cloud อย่างแพร่หลาย ทำให้ตลาด Data Center ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว และช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การค้า และการท่องเที่ยว และที่สำคัญยังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Innovation Hub ของภูมิภาคอาเซียน
โครงการ Data Center ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางดิจิทัลของประเทศ แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมทั้งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศในหลายมิติ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต