มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2020 ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อบริษัทเทคโนโลยีจีน โดยเฉพาะ Huawei ที่ถูกตัดขาดจากการเข้าถึงชิปประมวลผลระดับไฮเอนด์ แม้จะออกแบบโดย HiSilicon แผนกภายในของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถผลิตได้ เพราะโรงงานผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไม่สามารถจัดส่งให้ได้

หลังเปิดตัว Huawei Mate 40 ในปี 2020 ซึ่งเป็นเรือธงรุ่นสุดท้ายที่มาพร้อมชิป 5G เต็มรูปแบบ Huawei ต้องหันมาใช้ชิป Snapdragon เวอร์ชันพิเศษที่รองรับแค่ 4G เท่านั้น จนกระทั่งล่าสุด Huawei สามารถกลับมาใช้ชิป 5G ได้อีกครั้งใน Mate 60 Series ด้วยการจับมือกับ SMIC โรงงานผลิตชิปอันดับ 1 ของจีน และอันดับ 3 ของโลก รองจาก TSMC และ Samsung

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดจากการห้ามส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปรุ่นล่าสุดอย่าง EUV Lithography ทำให้ SMIC ไม่สามารถผลิตชิปในระดับก้าวหน้ากว่า 7nm ได้ ขณะที่คู่แข่งอย่าง TSMC และ Samsung กำลังจะเริ่มผลิตชิประดับ 2nm ภายในปีนี้แล้ว ซึ่งถือว่าชิปของ Huawei ยังล้าหลังไปถึง 3 เจเนอเรชัน ในด้านกระบวนการผลิต

ไม่เพียงแค่จีน ล่าสุดอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังออกมาเสนอแนวทางเรียกเก็บ ภาษีนำเข้าชิป เพื่อลดการพึ่งพาชิปจากต่างประเทศ และดึงให้โรงงานมาผลิตภายในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น แนวคิดนี้ส่งผลให้ผู้ผลิตจำนวนมากที่เคยเลี่ยงใช้บริการโรงงานในอเมริกาเพราะราคาสูง เริ่มแห่กันมาหา TSMC โรงงานในรัฐแอริโซนา หวังเลี่ยงภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่เมื่อความต้องการสูง ขณะที่กำลังผลิตยังจำกัดตามหลักเศรษฐศาสตร์ ราคาจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ เวเฟอร์ระดับ 2nm ที่มีราคาสูงถึง 30,000 ดอลลาร์ต่อแผ่น ซึ่งแพงกว่าระดับ 3nm ถึง 50% ทำให้แม้แต่ Apple ยังต้องเปลี่ยนแผนการผลิตชิป A19 และ A19 Pro สำหรับ iPhone 17 Series จากเดิมที่จะใช้ 2nm มาใช้เทคโนโลยี 3nm รุ่นที่ 3 แทน เพื่อควบคุมต้นทุน

แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่า ราคาสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์อาจพุ่งสูงขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ จากทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแรงกดดันทางการเมืองที่ทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างหนัก