เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 สํานักข่าวรอยเตอร์รายงาน นักวิทยาศาสตร์จากโครงการสำรวจดาวอังคารขององค์การ NASA เผยว่า ได้ตรวจพบแร่เหล็กชนิดหนึ่งชื่อ "ซิเดอไรต์" (Siderite) จากหินบนดาวอังคารที่ขุดเจาะโดยยานสำรวจ Curiosity ซึ่งอาจเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าดาวอังคารในอดีตเคยมีสภาพแวดล้อมอบอุ่นและมีน้ำในสถานะของเหลวอยู่บนผิวดาว

ยาน Curiosity ซึ่งปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารตั้งแต่ปี 2012 ได้เก็บตัวอย่างหินจากบริเวณหลุมอุกกาบาต Gale ซึ่งเป็นแอ่งขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเคยเป็นทะเลสาบโบราณ โดยในหินที่ขุดลึกประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีองค์ประกอบของแร่ซิเดอไรต์สูงถึง 10.5% ตามน้ำหนัก ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญทางธรณีเคมี

นักวิจัยเชื่อว่า การค้นพบนี้ช่วยเติมเต็มภาพอดีตของดาวอังคารที่เคยมีบรรยากาศหนาแน่นและอุดมไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลให้ดาวอังคารอบอุ่นพอที่จะมีน้ำในรูปของเหลวบนพื้นผิว

“แร่ซิเดอไรต์ที่พบ อาจเป็นเบาะแสที่ช่วยอธิบายว่าคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลในอดีตของดาวอังคารหายไปไหน”
– ศาสตราจารย์เบนจามิน ทูโตโล จากมหาวิทยาลัยคัลการี หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาหลักฐานว่าดาวอังคารเคยมีน้ำ และบรรยากาศที่สามารถรองรับสิ่งมีชีวิตมาก่อนหรือไม่ แต่การพบแร่คาร์บอเนต เช่น ซิเดอไรต์ กลับมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จากแบบจำลองทางธรณีเคมี ดังนั้นการค้นพบนี้จึงถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ

ดร.เอ็ดวิน ไคต์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าวว่า การที่ดาวอังคารเปลี่ยนจากดาวที่น่าจะอยู่อาศัยได้ในอดีต ไปสู่สภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งและไร้บรรยากาศในปัจจุบันนั้น ถือเป็น “การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดที่เรารู้จัก”

“หากเราค้นพบว่าแร่ประเภทนี้แพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งดาวอังคาร ก็อาจหมายความว่า คาร์บอนจากบรรยากาศในอดีตจำนวนมากได้ถูกฝังกลบอยู่ในหินเหล่านี้” – ไคต์กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการหมุนเวียนคาร์บอนของดาวอังคารแตกต่างจากโลก เพราะดาวอังคารไม่มีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (plate tectonics) ทำให้เมื่อคาร์บอนถูกดูดซับเข้าสู่หินแล้ว ก็จะไม่สามารถหมุนเวียนกลับสู่ชั้นบรรยากาศได้ง่าย

ข้อมูลใหม่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจ “วัฏจักรคาร์บอน” บนดาวอังคาร และอาจช่วยเปิดทางไปสู่การค้นพบเบาะแสของสิ่งมีชีวิตในอดีตได้ในอนาคต

ที่มา : reuters